“พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล” ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ยืนยันรัฐบาล “มาร์ค” มีแนวทางชัดเจนไม่สนับสนุนแผนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์-ถ่านหิน ชี้นครศรีธรรมราช ต้องเป็นพื้นที่การเกษตรและการท่องเที่ยวเท่านั้น
น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีพื้นที่นครศรีธรรมราช เป็นพื้นที่ที่ถูกเลือกให้เป็นที่ตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน และเป็นพื้นที่ที่อาจมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ว่า ในส่วนของประชาชนในพื้นที่นั้นมีการต่อต้านแน่นอนอยู่แล้วเนื่องจากมีทั้งกระแสข่าวการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม การจัดสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน นิวเคลียร์และอีกหลายโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งต้องยอมรับว่าเป็นการยัดเยียดให้กับชาวบ้านโดยที่บางกลุ่มนั้นแทบไม่ได้รู้เรื่องเลยว่าประโยชน์ พิษภัย หรือความเป็นอยู่สภาพเศรษฐกิจสังคมจะเป็นอย่างไรในอนาคต ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงคนติดตามเท่านั้นจึงรู้
“ในส่วนของรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สามารถพูดได้อย่างเต็มปาก ว่า รัฐบาลชุดนี้ไม่ได้สนับสนุนพลังงานทางเลือกเช่นนี้ ซึ่งนายกรัฐมนตรีมีความชัดเจน ส่วนตัวนั้นยอมรับว่าพลังงานนิวเคลียร์ดีแต่ไม่มั่นใจในความปลอดภัย โดยเฉพาะระบบจัดซื้อจัดจ้างในประเทศไทย พลังงานทางเลือกอีกอย่างที่ควรสนับสนุนคือพลังงานลม แต่มีปัญหาที่ตัวเก็บประจุที่มีราคาแพง ควรที่จะหาวิธีการในการลดราคา หรือมาตรการอื่นใดที่กระตุ้นให้เกิดการลงทุนอย่าลืมว่านครศรีธรรมราชเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมในเรื่องพลังงานลมเช่นนี้จะสามารถลดต้นทุนในการผลิตกระแสไฟฟ้าได้อย่างมหาศาลอย่างไรก็ตามนครศรีธรรมราช โดยเฉพาะในอำเภอท่าศาลา สิชล ขนอม เป็นพื้นที่ที่เหมาะกับการเกษตรและการท่องเที่ยว”
ส.ส.นครศรีธรรมราช รายนี้ ยังกล่าวต่อว่า ได้เข้าไปพูดคุยกับผู้บริหารในกระทรวงพลังงาน ถึงเรื่องนี้ และได้ยืนยันว่า รัฐบาลชุดนี้ไม่สนับสนุนทั้งในส่วนของโรงไฟฟ้าถ่านหินและนิวเคลียร์ผู้บริหารกระทรวงพลังงานรายนี้ตอบกลับมาว่าต้องดำเนินการตามแผนไว้ก่อน แม้ว่ารัฐบาลชุดนี้ไม่สนับสนุนแต่รัฐบาลหน้าอาจจะสนับสนุนก็ได้
“ขณะนี้ประสานงานกับรัฐมนตรีอุตสาหกรรม และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องขอเชิญลงมาในพื้นที่นครศรีธรรมราช เพื่อมาพูดคุยกันในเรื่องของแผนพัฒนาเศรษฐกิจภาคใต้ให้มีความชัดเจน หลังจากนั้นจะเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ซักถามถึงรายละเอียด กระบวนนี้อยู่ในขั้นตอนของการประสานงาน” น.ส.พิมพ์ภัทรา กล่าว
ขณะที่ นายวิทยา แก้วภราดัย รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ทั้งหมดในเรื่องนี้จะต้องมาสรุปร่วมกันทั้งภาคประชาชน และภาครัฐ ภาคเอกชน มาร่วมกันกำหนดว่าทิศทางพลังงานของประเทศไทยจะเอากันอย่างไร ไปทางไหน ถ้าเอาพลังงานปรมณู หรือเอาพลังงานถ่านหิน จะต้องให้การศึกษาให้ความรู้กับประชาชนในทุกแง่มุมแล้วค่อยมาว่ากัน
ข้อมูล...ผู้จัดการ ออนไลน์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น