วันพุธที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2553

พ่อเฒ่าตระกูล “เสือทอง” ตระกูลคหบดีใหญ่ในนครศรีธรรมราช สุดทนเตรียมเปิดศึกกับโรงแยกก๊าซบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) หลังทนถูกบุกเข้าไปใช้ที่ดินร่วม 18 ปี

พ่อเฒ่าตระกูล “เสือทอง” ตระกูลคหบดีใหญ่ในนครศรีธรรมราช สุดทนเตรียมเปิดศึกกับโรงแยกก๊าซบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) หลังทนถูกบุกเข้าไปใช้ที่ดินร่วม 18 ปี ไม่ได้รับค่าตอบแทนใดๆ ประกาศ 2 ต.ค.นี้ หากยังเฉยจะปักกั้นแนวเขตที่ดินทวงกรรมสิทธิ์คืน

ที่ จ.นครศรีธรรมราช นายจรุง เสือทอง อายุ 85 ปี อยู่ 39 ม.1 ต.ขนอม อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช ได้เข้าเปิดเผยกับผู้สื่อข่าวพร้อมด้วยเอกสารหลักฐานในการติดต่อประสานงานกับบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กรมป่าไม้จังหวัดนครศรีธรรมราช ในกรณีที่บริษัท ปตท.ได้เข้ามาขอซื้อที่ดินและพื้นที่ครอบครองเพื่อจัดสร้างโรงแยกก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท.จำกัดมหาชน ซึ่งตั้งอยู่ที่เขาชัยสน ม.1 ต.ท้องเนียน อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นที่ดินบางส่วนที่มีการก่อสร้างและดำเนินกิจการโรงแยกก๊าซของบริษัท ปตท.นับตั้งแต่ปี 2535 จนมาถึงปัจจุบันเป็นเวลารวม 18 ปี

แต่ตลอดเวลา 18 ปีที่ผ่านมานั้นไม่ได้มีการชำระค่าที่ดิน หรือการเข้าใช้ประโยชน์ใดๆ ให้แก่ตนเองในฐานะผู้เสียหายเลย โดยหากไม่มีการดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 2 ต.ค.53 นี้ตนเองพร้อมด้วยญาติและชาวบ้านจะไปปักกันแนวเขตที่ดินของตนเองออกจากบริเวณโรงงานของ ปตท.ตามสิทธิครอบครองกรรมสิทธิ์ของตน

นายจรุง เสือทอง ในฐานะผู้เสียหายเปิดเผยว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2535 เจ้าหน้าที่บริษัท ปตท.ในขณะนั้นคือการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย เข้าติดต่อขอซื้อที่ดิน 2 แปลงในเขต น.ส.3 ก. และที่ดินครอบครองมรดกตกทอดซึ่งมีสิทธิตามมาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ 2507 ประมาณ 7-2-84 ไร่ในราคาไร่ละ 1 ล้านบาท ซึ่งได้มีการตอบรับและยืนราคานี้จนถึงเดือนสิงหาคม 2535 ในปีเดียวกัน แต่ได้มีการขอให้ยืนราคาต่อไปจนถึงเดือนกันยายน 2535 เพื่อดำเนินการขั้นตอนจัดซื้อซึ่งตนได้ตกลงยินยอม

แต่หลังจากนั้นปรากฏว่า มีตัวแทนของบริษัทแจ้งว่า ตกลงจ่ายผลอาสินให้ไร่ละ 1 แสนบาท ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องเพราะ ปตท.ได้ยอมรับในการชำระค่าที่ดินไร่ละ 1 ล้านบาท ในปัจจุบันนี้ราคาสูงถึงไร่ละ 14-15 ล้านบาท ซึ่งตลอดมาหลังจากนั้น ปตท.ได้เข้าไปบุกรุกก่อสร้างโรงแยกก๊าซ หน่วยที่ 4 ขึ้นรวมเป็นเวลามาแล้วกว่า 17-18 ปี ต่อมาในปี 2552 ปตท.ได้ดำเนินเรื่องซ้ำซ้อนคือการขอใช้พื้นที่เขตป่าสงวนตามคำขอลงวันที่ 30 เม.ย.52 ซึ่งในแผนที่ปรากฏชัดอยู่แล้วว่าเป็นที่ดินของตนคือนายจรุง แต่ ปตท.ยังคงเดินหน้า และตัดโค่นทำลายต้นมะพร้าวทั้งหมด และสร้างโรงแยกก๊าซ หน่วยที่ 4 ขึ้นจนมาถึงปัจจุบัน

“ผมจำเป็นต้องดำเนินเรื่องนี้ให้จบ เพราะอายุ 85 แล้ว แต่ยืนยันว่าความจำยังดี หนังสือทุกฉบับร่างเองทั้งนั้น แม้ว่าจะถูกคนของ ปตท.เยาะเย้ยถากถาง ซึ่งได้นำเรื่องนี้เข้าร้องเรียนกับอำเภอ กับผู้ว่าราชการจังหวัดมีการประชุมหาข้อยุติกัน โดยมีเจ้าของเรื่องที่ได้รับมอบหมายจากนายอำเภอคือ ว่าที่ ร.ต.ชลิต มณีรัตน์ โดยมีการประชุมเมื่อ 20 ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งได้พิจารณาสาระสำคัญข้อร้องทุกข์ของผม คือ 1.ผมแสดงเจตนาบริสุทธิ์ที่จะยืนยันราคาเดิม คือไร่ละ 1 ล้านบาท นับตั้งแต่ 20 ตุลาคม 2535 จนถึงปัจจุบันพร้อมดอกเบี้ยตามอัตรากฎหมายกำหนด และ 2.หาก ปตท.เพิกเฉยไม่มีความจำเป็นใช้พื้นที่ ผู้ร้องคือผมจะเข้าไปใช้สิทธิครอบครองทำประโยชน์ ซึ่งในการประชุมนายสมนึก แพงวาปี ผู้แทนบริษัท ปตท.แจ้งในที่ประชุมว่าไม่มีอำนาจตัดสินใจ” นายจรุงกล่าว

ว่าที่ ร.ต.ชลิต มณีรัตน์ ปลัดอำเภอหัวหน้าฝ่ายความมั่นคง อ.ขนอม เปิดเผยว่า ในเรื่องนี้ได้มีการประชุมกันไป 3 รอบแล้ว ครั้งล่าสุดได้เชิญฝ่ายกฎหมาของ ปตท.มาร่วมด้วยซึ่งสรุปความได้ว่าการที่ ปตท.จะไปชำระแค่ผลอาสิน 1 แสนบาทนั้นจะไม่เป็นธรรมเนื่องจากที่ดินที่นายจรุงครอบครองนั้นชอบด้วยกฎหมาย

“อีกส่วนนั้นนายจรุงมีเอกสารหลักฐานที่ชัดเจน และได้ดำเนินการต่อสู้มาโดยตลอด 17-18 ปีที่ผ่านมา แต่เวลานี้อายุมากแล้วจึงรีบทำให้เสร็จเพื่อไม่มีปัญหาถึงลูกหลาน ส่วนของ ปตท.นั้นผมเห็นใจเช่นกันเนื่องจากในพื้นที่คงดำเนินการไม่ได้เนื่องจากเป็นรัฐวิสาหกิจการดำเนินการต้องมีความชัดเจนตามลำดับ”

ด้าน นายเรืองศักดิ์ วงศ์วันดี ผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการ โรงแยกก๊าซธรรมชาติขนอม บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าในส่วนของ ปตท.นั้นตอนนี้ยังไม่สามารถชำระเงินให้ได้ เนื่องจากยังมีปัญหาที่ยังพบในเอกสารสิทธิ์ยังไม่ตรงกัน ซึ่งได้เชิญนิติกรของ ปตท.มาดูแลในปัญหานี้และได้นำขึ้นไปปรึกษาหารือกับผู้ใหญ่อีกครั้ง เนื่องจากการจ่ายเงินนั้นจะต้องถูกตรวจสอบโดย สตง.ดังนั้นทุกอย่างจะต้องมีระเบียบกฎหมายควบคุมเคร่งครัด

“เรายืนยันว่าแนวทางการแก้ไขปัญหานั้นจะต้องดูแลซึ่งกันและกัน ปตท.ไม่อยากให้เกิดปัญหาความไม่เข้าใจกันในชุมชน ส่วนประเด็นที่ทางลุงจรุงจะมาปักกันแนวเขตนั้นไม่อยากให้เกิดขึ้น ซึ่งคงต้องคุยกันก่อน” ผจก.ฝ่ายปฏิบัติการโรงแยกก๊าซขนอม บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าว

ข้อมูล...ผู้จัดการ ออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น: