วันพุธที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2553

คนคอน ไม่เอาโรงรมยาง ศาลปกครองลงพื้นที่ตรวจสอบ ส่วนเจ้าของทำนักเลงขู่นักข่าว

คณะศาลปกครองลงพื้นที่ตรวจสอบโรงงานรมยางพารา พร้อมด้วยชาวบ้านนับร้อยรวมตัวเผยภัยถึงร้าย ทั้งน้ำเสีย กลิ่นเหม็น ควันฟุ้งกระจาย ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ สิ่งแวดล้อม หลังยื่นศาลปกครองยืดเยื้อนานนับปี ด้านเจ้าของโรงงานหวิดวางมวยกับสื่อเข้ากระชากคอเสื้อขู่ห้ามนำเสนอข่าว

วันที่ 28 ก.ย.53 คณะเจ้าหน้าที่จากศาลปกครองนครศรีธรรมราช ได้เดินทางไปยังโรงงานรมยางแผ่นรมควัน “เซอฟี่ จำกัด” ตั้งอยู่ปากซอยหนองบัว ริมถนนสายชลประทาน หมู่ 9 ต.นาเคียน อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช เพื่อตรวจสอบและสืบเสาะข้อเท็จจริงตามคำฟ้องคดีหมายเลขดำ 222/2552 กรณีที่ชาวบ้านหมู่ 7 ต.นาเคียน ที่ได้รับผลกระทบและเดือดร้อนจากการดำเนินกิจการของโรงรมยางแผ่นรมควันดังกล่าว ร่วมลงชื่อกว่า 100 คน ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเมื่อวันที่ 23 พ.ย.52

ทั้งนี้ เพื่อให้ศาลปกครองพิจารณาตัดสินยกเลิกคำสั่งของสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่อนุญาตให้จัดตั้งโรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับยางพารา ทั้งการรับซื้อน้ำยางสด ยางแผ่น นำมาผ่านกระบวนต่างๆ ตามขั้นตอน จนส่งผลกระทบต่อสภาพสิ่งแวดล้อม และความเดือดร้อนของประชาชนทั้งหมู่บ้านหมู่ 7 และบางส่วนของหมู่ 8 ต.นาเคียน อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช

ในเบื้องศาลปกครองได้ประทับรับฟ้องและสั่งให้โรงงานระงับการดำเนินกิจการชั่วคราว เพื่อรอผลการพิจารณาตัดสินจากศาลปกครองอย่างเด็ดขาดอีกครั้งหนึ่ง

การเดินทางมาตรวจสอบข้อเท็จจริงในสถานที่เกิดเหตุ ของคณะเจ้าหน้าที่ศาลปกครองในครั้งนี้ มีตัวแทนจากสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดนครศรีธรรมราชร่วมเดินทางมาด้วย ในขณะที่ชาวบ้านเกือบ 200 คน ที่ทราบข่าวเดินทางมารวมตัวบริเวณหน้าโรงงานเพื่อประท้วงขับไล่ ไม่ต้องการให้โรงงานอยู่ในพื้นที่ โดยชูแผ่นป้ายข้อความขนาดใหญ่ว่า “ชาวชุมชนหมู่ 7 ต.นาเคียน อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช ไม่เอาโรงงานรมยางพารา”

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์เริ่มทวีความเครียดเมื่อเจ้าของโรงงานรมยางซึ่งเป็นชาวปากีสถาน พูดไทยไม่ชัดได้นำญาติๆ ของภรรยาชาวไทยและพนักงานในโรงงานกว่า 10 คน พยายามขัดขวางไม่ให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องเข้ามายุ่งเกี่ยวเด็ดขาด โดยขณะที่ผู้สื่อข่าวโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ ยืนถ่ายรูปชาวบ้านที่รวมตัวประท้วง เจ้าของโรงงานรมยางพาราได้ตรงเข้ามาล็อคคอผู้สื่อข่าวพร้อมถามว่ามาจากไหน และห้ามถ่ายภาพทำข่าวอย่างเด็ดขาด เมื่อผู้สื่อข่าวไม่เชื่อฟังเจ้าของโรงงานตรงเข้าไปกระชากบัตรประจำตัวนักข่าวอย่างป่าเถื่อน และขว้างปาก้อนหินใส่ต้องกระโดดหลบกันจ้าละหวั่น

เมื่อเจ้าหน้าที่ศาลปกครองและตัวแทนจากสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดจะเข้าไปตรวจสอบภายในโรงงาน เจ้าของโรงงานรมยางดังกล่าวได้นำญาติๆ ภรรยาชาวไทยและพนักงานเกือบ 10 คนมายืนขวางประตูพร้อมตรวจบัตรอย่างเข้มงวดกวดขัน ไม่ยอมให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องเล็ดลอดเข้าไปในโรงงานอย่างเด็ดขาด ในขณะที่กลุ่มชาวบ้านต่างไชโยโห่ร้องขับไล่โรงงานให้ออกไปจากพื้นที่สถานเดียว

นายแอน ยุทธแสง อายุ 60 ปี แกนนำชาวบ้านและเป็น 1 ใน 100 คนที่ยื่นฟ้องศาลปกครองกล่าวว่า การเข้ามาตั้งโรงงานรมยางพาราแห่งนี้ถือว่าทางสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดอนุญาตให้จัดตั้งในพื้นที่ไม่เหมาะสม เพราะเป็นกลางชุมชน

หลังจากโรงงานนี้ตั้งได้ไม่นานก็ส่งผลกระทบกับชาวบ้านอย่างรุนแรงทั้งเรื่องน้ำเสีย กลิ่นเหม็นรวมทั้งควันไฟจากการรมยางพาราฟุ้งกระจายไปทั่งหมู่บ้าน น้ำเสียไหลถูกแอบปล่อยลงในคูเหมืองธรรมชาติไหลแทรกซึมทำให้บ่อน้ำดื่มน้ำใช้ของชาวบ้าสนไม่สามารถใช้อุปโภคบริโภคได้ กลิ่นเหม็นที่รุนแรงส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนที่ล้มป่วยนับ 10 คน ร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรื่องก็เงียบหายไม่มีการดำเนินการใดๆ จนต้องเข้าชื่อกันกว่า 100 คนยื่นฟ้องศาลปกครองนครศรีธรรมราชเมื่อวันที่ 23 พ.ย.2552 จนในที่สุดศาลปกครองได้สั่งให้ระงับการดำเนินกิจการของโรงงานชั่วคราว เพื่อรอการตรวจสอบและตัดสินคดี

ทางด้านนายญาย่า ออกราโชติ อายุ 57 ปี แกนนำชาวบ้านอีกคนกล่าวว่า เจ้าของโรงงานเป็นคนต่างด้าว มาจากประเทศปากีสถาน แต่กลับมีพฤติกรรมเหมือนมาเฟีย คิดจะทำอะไรก็ทำโดยไม่สนใจผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านเลย ล่าสุด อบต.นาเคียน ได้สั่งให้แก้ไขเรื่องน้ำเสียที่ระบายลงสู่คูเหมืองธรรมชาติ ทางโรงงานก็ชี้การถมปิดคูเหมืองทั้งหมด ทำให้น้ำไม่สามารถระบายออกไปจากพื้นที่ได้ ไหลซึมเข้าไปในสวนผลไม้ของชาวบ้านจนเดือดร้อนหนักเข้าไปอีก ทั้งกลิ่นเหม็น น้ำเสีย รวมทั้งเวลาเดินเครื่องจักรรมยางพาราควันไฟจะพวยพุ่งและฟุ้งกระจายปกคลุมไปทั่งหมู่บ้าน ชาวบ้านทนทุกข์ทรมานมานานนับปี จนหลายรายมีปัญหาเรื่องระบบหายใจ ล้มป่วยเพราะหายใจไม่ออก แน่นหน้าอก

“โดยเฉพาะที่อยู่ในรัศมี 2 ก.ม.ได้รับผลกระทบหนักที่สุดต้องย้ายบ้านหนีไปอยู่หมู่บ้านอื่น บางรายในช่วงที่เครื่องจักรเดินเครื่องไม่สามารถทนอยู่ในบ้านตัวเองได้ต้องหอบลูกหลานหนีไปขออาศัยอยู่กับญาติๆ ในหมู่บ้านใกล้เคียง แม้แต่การถมดินพื้นที่รอบๆ โรงงานก็ถมสูงเกือบเท่ากับหลังคาบ้านของชาวบ้านที่เขาสร้างมาก่อนหลายสิบปี"

นายสุกรี จำเนียร อายุ 57 ปี แกนนำชาวบ้านอีกคนหนึ่งกล่าวว่า ชาวบ้านลงมติกันแล้วว่าโรงงานจะต้องย้ายออกนอกพื้นที่สถานเดียวเท่านั้น เพราะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีคำสั่งให้แก้ไขปรับปรุงมาหลายครั้ง แต่ทางโรงงานไม่เคยสนใจเลย ซึ่งเชื่อหากยังคงดำเนินกิจการอยู่จะส่งผลกระทบกับชาวบ้านต่อไปแน่นอน แม้แต่เรื่องกระแสไฟฟ้าทางโรงงานก็ใช้ร่วมกับหม้อแปลงไฟฟ้าของหมู่บ้าน เมื่อโรงงานเดินเครื่องไฟฟ้าตก หลายครั้งไฟฟ้าดับ และจะดับๆ ติดๆ ทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้าของชาวบ้านพังเสียหายจำนวนมาก โดยเฉพาะเครื่องคอมพิวเตอร์ของโรงเรียนวัดพระมงกุฎ ก็พังเสียหายทั้งหมดส่งผลกระทบต่อการเรียนการสอนของลูกหลานและครูอาจารย์ นอกจากนี้คนงานทั้งโรงงานล้วนเป็นแรงงานต่างด้าวเกือบทั้งหมด จะมีคนในพื้นที่หมู่ 7 ทำงานในโรงงานนี้เพียง 2 คนเท่านั้น

นางซานีย่า ออกราโชติ อายุ 47 ปี ซึ่งนอนป่วยอยู่ในบ้าน เปิดเผยว่า ตั้งแต่มีโรงงานรมยางพาราในพื้นที่ทำให้ตนซึ่งตามปกติสุขภาพไม่ค่อยดี มีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ อยู่แล้วอาการหนักมากยิ่งขึ้น โดยแน่นหน้าอก หายใจไม่ออก เนื่องจ่ากกลิ่นเหม็นรนแรงจากน้ำที่ปล่อยมาจากโรงงาน ในช่วงที่เดินเครื่องรมควันยางพาราควันไฟพวยฟุ้งเข้าในบ้านและปกคลุมทั่วหมู่บ้าน บางครั้งต้องให้ญาติๆ หามส่งโรงพยาบาล หรือหลบหนีออกไปอยู่บ้านเพื่อนบ้านในละแวกใกล้เคียง นางซานีย่า กล่าวด้วยน้ำตานองหน้า

นอกจากนี้ ผู้ที่ล้มป่วยเนื่องจากได้รับผลกระทบจากกลิ่นเหม็นและควันไฟยังมีอีกหลายรายต่างนอนซมอยู่ในบ้านอย่างน่าเวทนาสงสาร อาทิ นายโหด รักดี อายุ 48 ปี นางนิสอ ออกราโชติ อายุ 75 ปี เป็นต้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสถานการณ์ตึงเครียดมากขึ้น เมื่อชาวบ้านตะโกนไชโยโห่ร้องขับไล่โรงงาน ให้ออกไปพ้นจากพื้นที่ ในขณะที่เจ้าของโรงงานนำกล้องถ่ายรูปออกมาถ่ายภาพของชาวบ้าน และผู้สื่อข่าว พร้อมกับพูดจาในลักษณะข่มขู่ สร้างคงวามไม่พอใจให้กับชาวบ้านและผู้สื่อข่าวเป็นอย่างมาก จนทาง พ.ต.ท.สมใจ บุญมรกต สว.สส. ต้องนำกำลังตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบจำนวนกว่า 20 นาย เข้ามารักษาความสงบเรียบร้อย

ข้อมูล...ผู้จัดการ ออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น: