วันจันทร์ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2553

กฟผ.แจงชาวบ้านเรื่องไฟฟ้าถ่านหิน - เผยแผนผุด 11 โรงถ่านหิน 5 โรงนิวเคลียร์ ย้ำชายฝั่งทะเลเหมาะสุด

ผู้ช่วยผู้ว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับชาวบ้านเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหิน เผยตามแผนโรงไฟฟ้าถ่านหิน ผุด 11 แห่งๆ ละ 6 หมื่นล้าน โรงไฟฟ้านิวเคลียร์อีก 5 แห่ง พื้นที่เหมาะสุด คือ ชายฝั่งทะเล ชี้ จะเกิดขึ้นหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการตัดสินของประชาชน

วันที่ 1 ต.ค.53 ที่ จ.นครศรีธรรมราช นายสุมิต วงศ์แสงจันทร์ ผู้ช่วยผู้ว่าการไฟฟ้าฝ่ายการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังความร้อน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงความเคลื่อนไหวในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่นครศรีธรรมราช ว่า ในส่วนของ กฟผ.ได้ลงพื้นที่ชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนใน 2 อำเภอ คือ ท่าศาลา และ อ.หัวไทร ถึงสถานการณ์พลังงานโดยเฉพาะวิกฤตที่เกิดขึ้นจะต้องเตรียมตัวรับเรื่องนี้อย่างไร ซึ่งบอกว่าในพื้นที่นั้นมีศักยภาพเพราะเป็นอำเภอที่อยู่ชายทะเลเหมาะแก่การสร้างโรงไฟฟ้าที่นำเชื้อเพลิงถ่านหินนำเข้ามาได้ ถ้าประชาชนในพื้นที่ทั้งสองอำเภอให้การไฟฟ้าศึกษารายละเอียดเพื่อการก่อสร้าง การไฟฟ้าจะลงในรายละเอียดเวลานี้อยู่ในขั้นตอนของการชี้แจงเท่านั้น

“เราพยายามที่จะทำความเข้าใจในข้อเท็จจริง กฟผ.มีนโยบายที่จะต้องชี้แจงข้อเท็จจริง แต่ข้อมูลที่ประชาชนรับทราบมาจากหลายแหล่งเราจะชี้แจงว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร และจะต้องชี้แจงว่าหากมีโรงไฟฟ้าเกิดขึ้นนั้น เราจะมีผลกระทบอย่างไร เราจะพูดในข้อเท็จจริงทั้งหมด ในส่วนของการจัดตั้งมวลชนเชิงลึกนั้นจริงๆ ที่เกิดขึ้นคือการให้ความรู้ประชาชนสามารถซักถามชี้แจงไม่มีสิ่งใดปกปิดเราจะทำอย่างนี้ต่อไป ประชาชนจะเป็นคนตัดสินว่าจะสร้างได้หรือไม่ได้ ประชาชนต้องมีความเข้าใจด้วย ซึ่งถ้าประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมเราจะทำขั้นต่อไปคือการประกาศหาพื้นที่ แต่ยังไม่ถึงขั้นนั้นข่าวลือที่ออกมาว่าเราซื้อพื้นที่ไว้หลานพันไร่นั้นไม่ได้เป็นเรื่องจริง”

นายสุมิต วงศ์แสงจันทร์ ผู้ช่วยผู้ว่าการไฟฟ้าฝ่ายการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังความร้อน กฟผ. กล่าวต่อว่า โครงการลักษณะเช่นนี้ถ้าเกิดขึ้นนั้น โครงการนี้อยู่ในแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยอยู่แล้ว ครม.ได้อนุมัติเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2553 ในแผนตัวนี้คือแผน 2010

“แผนนี้จะให้มีโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาด 11 โรง เป็นโรงไฟฟ้าขนาด 800 เมกะวัตต์ ซึ่งใน 11 โรงนี้จะต้องสร้างในพื้นที่ที่ติดกับทะเล เพราะต้องนำถ่านหินเข้ามา จังหวัดที่อยู่ชายทะเลทั้งหมดส่วนใหญ่จะอยู่ทางใต้แต่ละโครงการใน 1 โรงงานนั้นจะใช้งบประมาณถึง 6 หมื่นล้านบาทต่อ 800 เมกะวัตต์ อันนี้จะเกิดขึ้นเมื่อไหร่เท่าไหร่จะอยู่ที่ประชาชนจะให้การยอมรับหรือไม่ ในอีกส่วนคือเรื่องของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ที่อยู่ในแผนนี้เช่นกันมีประมาณ 5 โรง โรงละประมาณ 1 พันเมกะวัตต์ แต่ยังไม่ได้กำหนดว่าเป็นพื้นที่ไหน การไฟฟ้าฯได้จ้างที่ปรึกษามาประเมิน ว่า เป็นที่ไหนบ้าง จริงๆ แล้วการสร้างนั้นต้องเจาะสำรวจถึงชั้นพื้นหินรองรับโครงสร้างขนาดใหญ่ประเมินทั่วไปคล้ายกับถ่านหินจะต้องอยู่ชายทะเลเพราะต้องขนส่งของหนักแต่ยังไม่ได้ปักธงว่าเป็นที่ไหน ต้องศึกษาจากภาพถ่ายทางอากาศว่าน่าจะเหมาะอาจมีการให้คะแนนในเบื้องต้นจริงๆ แล้วต้องเจาะสำรวจแต่ยังไม่ได้ทำถึงขนาดนั้น” ผช.ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าว

ข้อมูล...ผู้จัดการ ออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น: