วันศุกร์ที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2554

เจ้าหน้าที่ป่าไม้ อาสาสมัคร ตำรวจ ทหาร จะบุกเข้าไป รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างในพรุควนเคร็ง อ.ชะอวด

14 ม.ค.นี้ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ อาสาสมัคร ตำรวจ ทหาร จะบุกเข้าไป รื้อถอน ทำลายสิ่งปลูกสร้าง หรือพืชผลอาสิน ที่ประชาชนเข้าไปบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อทำการเกษตร ในพรุควนเคร็ง อ.ชะอวด

นายยรรยง เลขาวิจิตร ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 12 นครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า กรมป่าไม้ได้วางแผนงานโดยมุ่งเน้นการป้องกันรักษาป่าและเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ให้เกิดเป็นรูปธรรม โดยการบังคับคดีในกรณีที่จำเลยและบริวารไม่ยอมออกจากป่าตามคำพิพากษา และการใช้มาตรการปกครองออกคำสั่งให้ผู้กระทำผิดรื้อถอน ทำลายสิ่งปลูกสร้างหรือพืชผลอาสินออกไปให้พ้นเขตป่าสงวนแห่งชาติ ตามมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ 2507 อย่างเข้มงวด โดยดำเนินการนำร่องใน 3 จังหวัด คือ เชียงใหม่ พิษณุโลก และนครศรีธรรมราช

ทั้งนื้เนื่องจากจังหวัดนครสรีธรรมราช มีพื้นที่พรุควนเคร็งที่เป็นพรุขนาดใหญ่ ปีที่ผ่านมาได้เกิดปัญหาไฟไหม้ป่าพรุ ส่วนหนึ่งเกิดจากธรรมชาติ แต่อีกส่วนเกิดจากการกระทำของมนุษย์ ในการรุกพื้นที่ป่าเพื่อเข้าถือครองทำการเกษตร ซึ่งในเดือนเมษายน 2553 ที่ผ่านมาได้มีการแจ้งความ จับกุมดำเนินคดีกับผู้บุกรุกแล้ว และนายอำเภอชะอวด ผู้รับผิดชอบในระดับพื้นที่ได้ออกประกาศแจ้งเตือนไปยัง อบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้นำชุมชน ได้ติดประกาศ แจ้งให้ผู้บุกรุกได้รื้อถอนออก ภายใน 45 วัน และหากไม่เป็นที่พอใจสามารถอุทธรณ์ได้ภายใน 15 วัน ดังนั้นเพื่อให้เป็นไปตามคำสั่งของอธิบดีกรมป่าไม้ ในวันที่ 14 มกราคมนี้ ตั้งแต่เวลา 09.00 น. เป็นต้นไป จะมีการรวมตัวของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ อาสาสมัครของอำเภอชะอวด ทหาร ตำรวจ จำนวน 200 นาย ที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบ่อล้อ เพื่อเข้าไปดำเนินการรื้อถอน ทำลายสิ่งปลูกสร้าง หรือพืชผลอาสิน ในพื้นที่ เป้าหมาย ของอำเภอชะอวดจำนวน 148 ไร่ และทำการปลูกฟื้นฟูจำนวน 500 ต้น ซึ่งการดำเนินงานอาจไม่เสร็จสิ้นในครั้งเดียวเนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวบางจุดยังมีน้ำท่วมขัง แต่จะมีการระดมกำลังในครั้งต่อไปอีก

ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 12 นครศรีธรรมราช ยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า แผนการปฏิบัติงานตามมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ 2507 ได้กำหนดให้ พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจ .สั่งให้ผู้หนึ่งผู้ใดออกจากป่าสงวนแห่งชาติ หรือให้งดเว้นการกระทำใดๆในเขตป่าสงวนแห่งชาติ สั่งเป็นหนังสือให้รื้อถอน แก้ไข หรือทำประการอื่นใดแก่สิ่งที่เป็นอันตรายหรือสิ่งที่ทำให้เสื่อมสภาพในเขตป่าสงวนแห่งชาติภายในเวลาที่กำหนด และ ยึด ทำลาย รื้อถอน แก้ไข หรือทำประการอื่น เมื่อผู้กระทำผิดไม่ปฏิบัติตาม ไม่ปรากฏตัวผู้กระทำผิด หรือรู้ตัวผู้กระทำผิดแต่หาตัวไม่พบ ทั้งนี้เพื่อป้องกันหรือบรรเทาความเสียหายแก่ป่าสงวน โดยกรมป่าไม้จะดำเนินการต่อเนื่องตลอดไป ซึ่งผมเชื่อว่า การดำเนินการดังกล่าวข้างต้นนี้จะช่วยป้องกันรักษาป่า และเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ให้กับประเทศไทยได้อย่างดีมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลและเป็นรูปธรรม

ข้อมูลจาก :: จิรา วงศ์สวัสดิ์ สวท. นครศรีธรรมราช

ไม่มีความคิดเห็น: