วันจันทร์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ม.วลัยลักษณ์นครศรีฯ ส่งนักวิจัยจับมือนักธุรกิจไม้ยางพาราพัฒนาเชิงพาณิชย์ดันสินค้าสู่สากล

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ร่วมพัฒนาไม้ยางพาราเพื่อการส่งออก ส่งนักวิจัยมือเยี่ยมพบนักธุรกิจไม้ยางพาราหาช่องทางร่วมพัฒนาสู่ตลาดโลก เผยพบวิธีการเพิ่มคุณภาพไม้ยางพาราด้วยการใช้น้ำ และความร้อน

รศ.ดร.ก้าน จันทร์พรหมมา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เปิดเผยถึงโครงการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ว่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้มีความร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมภาคใต้ ภายใต้โครงการเครือข่ายธุรกิจนวัตกรรมภาคใต้ โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย และโครงการเครือข่ายวิจัย และพัฒนาภาครัฐร่วมเอกชนในเชิงพาณิชย์ ให้มีการพบปะเสวนากันระหว่างนักธุรกิจและนักวิจับ โดยเฉพาะนักธุรกิจด้านอุตสาหกรรมยางพารา โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมไม้ยางพาราไทยสู่การแข่งขันระดับสากล

นายธนารักษ์ พงษ์เภตรา ประธานสภาอุตสาหกรรมภาคใต้ กล่าวว่า การเปิดโอกาสให้นักวิจัยได้พบปะกับผู้ประกอบการทางด้านไม้ยางพารา เพื่อร่วมกันหาแนวทางการพัฒนาคุณภาพไม้ยางพารา โดยทางโครงการ iTAP ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จะร่วมวิจัยให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการตลอดจนช่วยประสานหาผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลกมาให้ความรู้เป็นโอกาศสำคัญของความร่วมมือที่จะแสวงหาประโยชน์จากความร่วมมือในครั้งนี้

ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการพัฒนาขึ้นในอุตสาหกรรมไม้ยางพาราเพื่อยกระดับการแข่งขันสู่สากล จะเป็นแนวทางหนึ่งในการพึ่งพานำไปสู่การพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้รวมทั้งการสะท้อนมุมมองปัญหาด้านการใช้เทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปไม้ยางพาราจากนักธุรกิจชั้นนำ เช่น นายเพชร ศรีหล่มศักดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสุราษฎร์ธานี และนายสุทิน พรชัยสุรีย์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมโรงเลื่อยและอบไม้

ขณะเดียวกัน ในส่วนของมหาวิทยาลัยได้นำเสนอนำงานวิจัย ผลงานทางวิชาการที่มีศักยภาพออกสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ และร่วมสร้างโจทย์วิจัยที่เกิดจากความต้องการของผู้ประกอบการและเป็นแนวทางในการทำวิจัยของนักวิจัย

อย่างไรก็ตาม ในการนำผลการศึกษาวิจัยมาแสดงนั้นพบว่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ประสบความสำเร็จในการพัฒนากระบวนการปรับปรุงคุณภาพของไม้ยางพาราด้วยวิธีความร้อนโดยใช้น้ำพร้อมกับพัฒนาเครื่องต้นแบบในระดับห้องปฏิบัติการ โดยระบบนี้สามารถประยุกต์ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมไม้ยางพาราแปรรูปโดยการดัดแปลงระบบอัดน้ำยาไม้ที่มีใช้อยู่แล้วในโรงงาน

ถึงแม้ว่าไม้ยางพาราจะมีจุดเด่นของการเป็นไม้จากป่าเศรษฐกิจที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม มีสีขาวนวลและลวดลายคล้ายไม้สัก แต่ไม้ยางพาราเป็นไม้ที่มีความคงทนตามธรรมชาติต่ำและถูกทำลายได้ง่ายโดย รา มอดและปลวก ดังนั้น ก่อนที่จะนำไม้ไปใช้งานจึงจำเป็นต้องอัดน้ำยาเคมีเพื่อรักษาเนื้อไม้ การใช้สารเคมีเป็นการลดคุณค่าด้านสิ่งแวดล้อมของไม้ยางพารา ประกอบกับการแข่งขันของอุตสาหกรรมไม้ในตลาดโลกเป็นไปในทิศทางของการลดหรือไม่ใช้สารเคมีที่เป็นพิษในการรักษาเนื้อไม้ ผู้ใช้ไม้ต้องการไม้ที่มีความคงทนและปราศจากสารเคมีที่เป็นพิษต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม

หลายประเทศในสหภาพยุโรปได้มีการพัฒนากระบวนการให้ความร้อนแก่ไม้เพื่อปรับปรุงความคงทน โดยไม้ที่ผ่านกระบวนการจะมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของเซลลูโลส เฮมิเซลลูโลส และลิกนิน ภายในผนังเซลล์ของไม้ ทำให้สามารถต้านทานต่อการเข้าทำลายของ รา มอดและปลวกได้ อย่างไรก็ตามเทคนิคต่างๆดังกล่าวที่พัฒนาขึ้นต้องกระทำโดยใช้อุณหภูมิที่สูงมาก และมีหลายขั้นตอน อีกทั้งยังไม่สามารถติดตั้งหรือดัดแปลงใช้เทคนิคดังกล่าวกับอุปกรณ์ที่มีอยู่แล้วในโรงงานอุตสาหกรรมไม้ยางพาราในประเทศไทยได้

ข้อมูล...ผู้จัดการ ออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น: